ไว้วางใจให้บริษัทรับสร้างบ้านสร้างบ้านให้แล้ว เมื่อถึงวันรับมอบบ้าน ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าในการตรวจรับบ้าน ควรต้องตรวจเช็กจุดใดบ้าง
ไว้วางใจให้บริษัทรับสร้างบ้านสร้างบ้านให้แล้ว เมื่อถึงวันรับมอบบ้าน ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าในการตรวจรับบ้าน ควรต้องตรวจเช็กจุดใดบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ป้องกันการรับมอบบ้านมาแล้วเกิดปัญหาภายหลัง รวมทั้งจะได้ตัดปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างตัวเราซึ่งเป็นเจ้าของบ้านกับบริษัทรับสร้างบ้าน โดยสามารถแยกเป็น 8 กลุ่มใหญ่ ๆ ในการตรวจรับบ้าน ดังนี้
1. ตรวจสอบภายนอกตัวบ้าน
นอกตัวบ้านในที่นี้ ได้แก่ บริเวณสวน รั้ว ระเบียง ทางเดิน โรงจอดรถ พื้นที่ต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถตรวจสอบได้ด้วยการเช็กสี รอยตำหนิ ความทรุด ลาด เอียงของพื้น เป็นหลุมเป็นบ่อหรือไม่ ไปจนถึงความเรียบร้อยในการติดตั้ง
2. ท่อระบายน้ำ
ตรวจเช็กดูความลาดเอียงของพื้นว่าเพียงพอต่อการระบายน้ำหรือไม่ หรือมีจุดที่เป็นแอ่งน้ำขัง ซึ่งอาจเป็นปัญหาในภายหลังได้เช่นกัน โดยอาจลองเอานำมาราดให้ทั่วพื้นที่ และสังเกตทิศทางการระบายน้ำ
3. พื้น ผนัง และฝ้าเพดาน
งานพื้น ให้ใช้การตรวจสอบด้วยการสังเกตและสัมผัสว่าพื้นเรียบดีหรือยัง พื้นได้ระดับดีหรือเปล่า รวมทั้งการตรวจสอบความกลวงใต้กระเบื้องที่ปูพื้นด้วย
งานผนัง ให้เช็กความเรียบร้อยของพื้นผิว สี และงานฉาบว่าประณีตแล้ว ไม่ปูด นูน หรือมีรอยแตกร้าว รวมทั้งดูด้วยว่าผนังเอียงหรือไม่
งานฝ้าเพดาน ตรวจสอบรอยต่อว่าได้แนวฉาก ได้ระดับเสมอกันทั้งห้องและเว้นระยะเท่ากันโดยตลอด รวมทั้งเช็กปัญหาน้ำรั่วซึมจากหลังคาด้วย
4. โครงสร้างบ้าน
โครงสร้างบ้านเป็นส่วนที่มองไม่เห็นจากภายนอก แต่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติเบื้องต้นด้วยสายตาได้ เช่น รอยร้าวต่าง ๆ บริเวณคานและเสา และควรตรวจสอบรูปร่างของเสาและคานว่าไม่มีการคดงอ ถ้าในบ้านมีส่วนที่เป็นโครงเหล็กควรตรวจดูว่ามีการเคลือบสีกันสนิมหรือไม่ ขณะที่งานไม้ ก็เช็กว่ามีการลงน้ำยากันปลวกครบถ้วนดีทุกจุด
5. ประตู หน้าต่าง
เช็กสภาพ บานประตู หน้าต่าง ช่องแสง รวมถึงกุญแจ บานพับ กลอนประตู ว่าสามารถใช้งานได้ดีและสะดวกหรือไม่ ทดสอบจนมั่นใจว่ามีความแข็งแรงเพียงพอ รวมทั้งสังเกตว่าตำแหน่งที่ติดตั้งว่าอยู่ตรงจุดที่ต้องการ
6. ระบบไฟฟ้า
ทดลองเปิด-ปิดสวิตช์ไฟทุกจุดที่บ้านมี (หลาย ๆ ครั้ง) ส่วนปลั๊กไฟให้ทดสอบด้วยการนำเอาปลั๊กมาลองต่อใช้งาน หรือ ลองชาร์จโทรศัพท์มือถือ และอย่าลืมทดสอบระบบตัดไฟ อีกทั้งเช็กงานร้อยท่อสายไฟว่ามีความเป็นระเบียบเพียงพอแล้ว
7. ระบบสุขาภิบาล
ให้ทำการเปิดน้ำจากก๊อกทุกตัวในบ้านเพื่อตรวจสอบการไหลของน้ำ รวมทั้งสุขภัณฑ์ห้องน้ำว่าสามารถระบายน้ำได้ดีหรือไม่ อีกทั้งควรตรวจสอบการทำงานของวาล์วน้ำด้วยว่ามีการรั่วซึมหรือไม่
8. ระบบหลังคา
ตรวจสอบปัญหาการรั่วซึมของหลังคา ด้วยการสังเกตรอยคราบ รอยด่างที่เกิดจากน้ำ โดยเฉพาะรอยคราบตรงฝ้าเพดาน และอาจทำการฉีดน้ำให้ทั่วหลังคาเพื่อเช็กเพิ่มเติมว่าหลังคามีปัญหาน้ำรั่วซึมหรือเปล่า
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็น 8 วิธีการง่าย ๆ ที่เจ้าของบ้านสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความเรียบร้อย และความสมบูรณ์แบบของบ้านในฝันของคุณได้
ส่วนที่เป็นปัญหาอื่น ๆ จากนี้ อาจต้องศึกษาเพิ่มเติมหรือขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญอีกที จะดูแค่บ้านสร้างเสร็จสวยเหมือนแบบอย่างเดียวไม่ได้ เพราะยังมีจุดสำคัญต่าง ๆ ทั้งภายในและนอกบ้าน ที่เจ้าของบ้านต้องตรวจเช็กอย่างละเอียด อย่าให้พลาด! เพื่อสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที